Saturday, February 24, 2007

มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเล.

มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเล ประกอบด้วย
1. เพิ่มมาตรการคุ้มครองป้องกันการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล พยายามตรวจตราแหล่งวางไข่เต่าทะเล โดยร่วมมือกันกับชุมชนในท้องถิ่นโดยการจัดตั้ง "กลุ่ม" หรือ "ชมรม" การอนุรักษ์เต่าทะเลและสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาไข่เต่าทะเลไว้ให้ได้และให้มีการเพาะฟักขยายพันธุ์ในธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการแต่งตั้งให้เป็นอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เพื่อช่วยทางราชการในการป้องกันผู้ลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลไปขาย ตลอดจนรณรงค์งดการบริโภคไข่เต่าทะเล เพื่อลดการทำลายไข่เต่าทะเลในธรรมชาติ
2. ป้องกันการล่าเต่าทะเลเพื่อนำเนื้อเต่าทะเลมาบริโภค ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมบริโภคเนื้อเต่าทะเลโดยเฉพาะชาวเล (ไทยใหม่) เจ้าหน้าที่ต้องพยายามไปตรวจตราตามแพปลาใหญ่ ๆ เพราะแพปลาเป็นแหล่งขายเนื้อเต่าทะเลแหล่งใหญ่ที่สุด
3. เข้มงวดตรวจตราร้านค้าที่ขายกระดองเต่าทะเลสตัฟฟ์หรือนำกระดองเต่าทะเลมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ
4. ป้องกันแหล่งขึ้นวางไข่เต่าทะเลบนชายหาด ไม่ให้ถูกทำลายมากกว่านี้ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มีแสงไฟและมีผู้คนพลุกพล่าน หาทางฟื้นฟูแหล่งวางไข่เต่าทะเลให้คงสภาพเหมาะสมที่เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ต่อไป
5. เข้มงวดตรวจตราการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำการประมงอวนลาก อวนรุน ในระยะ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง นอกจากเป็นการทำลายเต่าทะเลโดยตรงแล้ว การลากอวนยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเลอีกด้วย เห็นสมควรมีการปราบปรามการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และควรกำจัดเครื่องมืออวนลากให้มีจำนวนให้เหมาะสมกับจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำสำหรับอวนรุนไม่ควรให้มีอีกต่อไป
6. ป้องกันแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเล พยายามรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเลให้คงสภาพสมบูรณ์ โดยทั่วไปแล้ว ได้แก่ บริเวณชายฝั่งแนวปะการัง, หญ้าทะเล เป็นต้น
7. อบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติให้เข้าใจมาตรการการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้น และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างจริงจังและจริงใจ
8. จัดอบรมนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ชาวประมงและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลของไทย เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเล ให้เกิดแรงร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเลให้ได้ผล
9. การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ต่าง ๆ โดยการทำแผ่นพับ โปสเตอร์ จุลสารต่าง ๆ โดยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน
10. การจัดงานปล่อยลูกเต่าทะเล พร้อมกับจัดนิทรรศการเผยแพร่เรื่องเต่าทะเล เป็นวิธีการส่งเสริมการอนุรักษ์ที่ได้ผลทางหนึ่ง การปล่อยลูกเต่าทะเลเป็นการให้ประชาชนโดยทั่วไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทางหนึ่ง คนไทยมีความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณี ว่าการปล่อยสัตว์น้ำเป็นการให้ชีวิตใหม่ จะได้บุญกุศลมากและมีอายุยืนยามเหมือนเต่า อีกประการหนึ่งเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนและเอกชนหันมาช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเลให้เหลือไว้เป็นสมบัติของธรรมชาติและประเทศสืบไป ส่งเสริมให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดงานปล่อยเต่าทะเล เช่น จังหวัดภูเก็ต มีกลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จัดพิธีปล่อยเต่าทะเล ขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ หรือวันประมงแห่งชาติ ณ บริเวณชายทะเลหาดไม้ขาว นอกจากนี้โรงแรมในเครือลากูน่า กรุ๊ป ตำบลบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเกต ก็มีการจัดงานปล่อยเต่าทะเลทุก ๆ ปีเช่นเดียวกัน
11. รักษาประเพณี "การเดินเต่า" ของคนภูเก็ต - พังงา เอาไว้ ชายหาดบริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ ประมาณเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี การเดินเต่า คือ การออกไปเดินชายหาดที่มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ในตอนกลางคืนโดยเฉพาะคืนเดือนมืดเป็นคณะเป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกับทางราชการอีกด้วย ในปัจจุบันชายหาดที่มีการเดินเต่าทะเล ได้แก่ หาดไนยาง และหาดท้ายเหมือง แต่โอกาสที่จะได้เห็นเต่าทะเลคลานขึ้นมาวางไข่มีน้อยมาก เพราะหาดทรายถูกรบกวน จำนวนเต่าก็มีน้อย
12. จัดสัมมนาในหัวข้อ "แนวทางการอนุรักษ์เต่าทะเล" โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมประมง กรมป่าไม้ กองทัพเรือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม, ชมรมอนุรักษ์ฯ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ เพื่อมาระดมความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล
13. ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน และได้แก้ไขเพียง 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2528 เท่านั้น มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย ทำให้ประชาชนไม่เกรงกลัว หรือขาดความเคารพต่อกฎหมาย
14. ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลแก่องค์กรเอกชนต่าง ๆ ให้มากขึ้น ได้แก่ กลุ่ม หรือชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือมูลนิธิที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันองค์กรเอกชนเหล่านี้มีบทบาทด้านการอนุรักษ์มาก
















No comments: