Wednesday, January 31, 2007

ระเบียบกรมประมง

ระเบียบกรมประมง
ว่าด้วยการยื่นคำขอและการออกหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ พ.ศ.2547

----------------------------------

โดยที่ประกาศกรมศุลกากรที่ 1/2542 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2542 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นอากรการนำเข้าสำหรับปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเชีย โมลลุสก์ และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ให้การนำเข้าแต่ละครั้งมีจำนวนพอสมควรโดยกรมประมงเป็นผู้กำหนดและต้องมีหนังสือของกรมประมงยืนยันการนำเข้ามาสำหรับทำพันธุ์ประกอบการพิจารณายกเว้นอากรการนำเข้าสัตว์น้ำดังกล่าวด้วย โดยหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนในการยื่นขอและการออกหนังสือรับรองดังกล่าวนั้นได้กำหนดไว้ในระเบียบกรมประมงว่าด้วยหลักเกณฑ์การยื่นคำขอหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ พ.ศ.2543 ซึ่งกรมประมงเห็นสมควรแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 กรมประมงจึงออกระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติราชการในการยื่นคำขอและการออกหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำประเภทปลา สัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ และสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆสำหรับทำพันธุ์ ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมประมงว่าด้วยการยื่นคำขอและการออกหนังสือรับรองยืนยันการ นำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ พ.ศ.2547”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกรมประมงว่าด้วยหลักเกณฑ์การยื่นคำขอหนังสือรับรองยืนยัน
การนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ พ.ศ.2543

ข้อ 4 ในระเบียบนี้
(1) สัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ หมายความว่า สัตว์น้ำที่มุ่งหมายจะใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือ
แม่พันธุ์ในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนั้น
(2) หนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ หมายความว่า หนังสือรับรองซึ่งออกให้ตามระเบียบนี้ เพื่อรับรองว่าสัตว์น้ำตามชนิดและปริมาณที่จะนำเข้านั้นเป็นสัตว์น้ำสำหรับ
ทำพันธุ์
(3) ผู้ยื่นคำขอ หมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์

ข้อ 5 ผู้ที่จะขอหนังสือรับรองการยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ จะต้องเป็นผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนได้รับการรับรองมาตรฐาน
การจัดการฟาร์มที่ดี(COC) หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำที่ดี(GAP) จากกรมประมงแล้ว

ข้อ 6 ผู้ที่ประสงค์จะขอหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้
(1) สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง กรณีเป็นสัตว์น้ำจืด
(2) สำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง กรณีเป็นสัตว์น้ำเค็ม

ข้อ 7 ให้ผู้ยื่นคำขอตามข้อ 6 กรอกข้อความในคำขอให้ครบถ้วน พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้ด้วย
(1) กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ให้แนบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(2) ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล ให้แนบ
(2.1) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนการเป็นนิติบุคคล
(2.2) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนา
บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นใดของนิติบุคคลนั้น

(3) ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมายื่นคำขอแทน ให้แนบหลักฐานต่อไปนี้ด้วย
(3.1) หนังสือมอบอำนาจ
(3.2) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐของผู้รับมอบอำนาจ

(4) สำเนาใบอนุญาตให้ประกอบอาชีพในการประมง การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรืออุตสาหกรรมสัตว์น้ำ (อนุญาต 6) (ถ้ามี)

(5) สำเนาหลักฐานการได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการฟาร์มที่ดี(COC)หรือมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำที่ดี(GAP)จากกรมประมงตามข้อ 5

6) เอกสารอื่นตามที่กรมประมงประกาศกำหนด

ข้อ 8 เมื่อได้รับคำขอแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนรับคำขอ และตรวจสอบ
ความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐาน
หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ก็ให้คืนคำขอและเอกสารหลักฐาน และแจ้งให้
ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 1 วันทำการ เพื่อทำการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
แต่หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ก็ให้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามคำขอนั้น แล้วเสนออธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย เพื่อพิจารณาออกหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ให้แก่ผู้ยื่นคำขอนั้นต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ในกรณีที่อธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมายได้พิจารณาแล้วไม่รับรอง
ตามคำขอ ก็ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบภายในกำหนดเวลาตามวรรคก่อนด้วย

ข้อ 9 การดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของสถานประกอบการเพาะเลี้ยง
สัตว์น้ำตามข้อ 8 วรรคสามนั้น ให้ผู้ยื่นคำขออำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ

ข้อ 10 กรมประมงจะออกหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ในจำนวน
ที่เหมาะสมกับจำนวนและขนาดของบ่อที่ใช้ในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำนั้น ทั้งนี้ ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรกำหนดเป็นกรณีไป

ในกรณีของสัตว์น้ำประเภทกุ้งกุลาดำ กรมประมงจะออกหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้า
สัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ให้เฉพาะกุ้งที่มีขนาดความยาว 7.5 นิ้ว หรือขนาดน้ำหนัก 70 กรัม ขึ้นไป เท่านั้น

ข้อ 11 ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ จะต้องยื่นขอรับหนังสืออนุญาตในการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรตามระเบียบว่าด้วยการยื่นคำขอและการอนุญาตให้นำ
สัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยให้ใช้หนังสือรับรองตามระเบียบนี้ประกอบในการยื่นขอรับหนังสืออนุญาตดังกล่าวด้วย
หนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ 1 ฉบับ จะใช้ประกอบในการยื่นขอรับหนังสืออนุญาตตามวรรคแรกได้เพียง 1 ครั้ง

ข้อ 12 ให้หนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์มีผลนับแต่วันที่ได้ออกและหมดอายุลงพร้อมกับอายุหนังสืออนุญาตให้นำสัตว์น้ำนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้ออก

ข้อ 13 แบบคำขอและแบบหนังสือรับรองยืนยันการนำเข้าสัตว์น้ำสำหรับทำพันธุ์ตามระเบียบนี้ ให้ใช้ตามแบบที่กรมประมงกำหนด

ข้อ 14 ให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด
ในกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมประมงให้เป็นที่สุด

No comments: